มัดรวมสาระน่ารู้เกี่ยวกับรังแค ปัญหาโลกแตก !

Last updated: 13 ก.ย. 2566  |  285 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มัดรวมสาระน่ารู้เกี่ยวกับรังแค ปัญหาโลกแตก !

รังแคเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ที่กวนใจทุกเพศทุกวัย แม้ว่ามันจะไม่ใช่โรคติดต่อหรือโรคร้ายแรงที่ต้องหวาดกลัว แต่มันทำให้ความมั่นใจลดลงและพฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนอย่างไร ? รังแคมักมาพร้อมกับอาการคัน เพราะฉะนั้นหลาย ๆ คนที่เป็นมักจะมีพฤติกรรมการเกาหนังศีรษะบ่อยขึ้น อาจจะถึงขั้นเกาจนติดเป็นนิสัย เครียดก็เกา อยู่เฉย ๆ ก็เกา แม้ว่าจะไม่ได้คันเลยก็ตาม 

รังแคคืออะไร ?
รังแค (Dandruff) คือ ภาวะเรื้อรังของอาการผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่งที่พบได้ในทุกเพศทุยวัย อาการดังกล่าวทำให้ผิวหนังลอก เป็นขุย หรือมีสะเก็ดขาวบนหนังศีรษะ ส่งผลให้เกิดอาการคันที่มีความรุนแรงแตกต่างกันไป

สาเหตุที่ทำให้เกิดรังแค
งูลอกคราบได้ฉันใดคนก็ทำได้ฉันนั้น รังแคเกิดจากการหลุดลอกของเซลล์ผิวหนังชั้นบนสุดของหนังศีรษะ เพราะปกติแล้ววงจรชีวิตของเซลล์ผิวหนังจะมีการแบ่งตัวจากผิวหนังชั้นล่างค่อย ๆ เคลื่อนไปยังชั้นบนเรื่อย ๆ จนในที่สุดผิวหนังชั้นนั้นก็ผลัดตัวหลุดออกไป ซึ่งคนทั่วไปจะใช้เวลาในการผลัดชั้นผิวหนังนี้ประมาณ 28 วัน แต่สำหรับคนที่มีรังแคมากจะมีการผลัดที่เร็วกว่า ทำให้เกิดการหลุดลอกของเซลล์ผิวหนังในปริมาณมากจนมองเห็นเป็นแผ่นสะเก็ดสีขาวบนหนังศีรษะที่ทำให้หลาย ๆ คนเกิดความรำคาญใจ

แล้วทำไมบางคนถึงมีรังแคมากกว่าปกติ ? อาจเกิดได้ทั้งจากกรรมพันธุ์ ฮอร์โมน ความครียด สภาพอากาศ การทำสารเคมีที่เส้นผม แชมพูที่ใช้ หรือแม้แต่ความชื้นหลังจากสระผมที่หมักหมมไว้จนเกิดการสะสมของเชื้อรา Malassezia ก่อให้เกิดการเร่งผลัดเซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติ

บางครั้งก็มีบางปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเพิ่มโอกาสเป็นรังแคมากขึ้น ได้แก่ 
1. โรคบางชนิด เช่น โรคพาร์กินสัน เพราะโรคนี้ทำให้มีโอกาสเกิดโรคผิวหนังอักเสบและรังแค อีกโรคคือ เอดส์ (HIV) ก็อาจะทำให้เกิดรังแคได้เช่นกัน
2. ผิวหนังและเส้นผมที่มีน้ำมันมากเกินไป เพราะเชื้อรา Malassezia เติบโตได้ดีในผิวหนังที่มีน้ำมันมากเกิน ส่งผลให้เกิดรังแคเพิ่มขึ้นกว่าปกติ
3. เพศและอายุก็มีส่วนทำให้เกิดรังแค โดยปกติมักจะเกิดในวัยรุ่น - วัยกลางคน แต่ก็มีบางคนที่อาจเป็นได้ตลอดชีวิต อีกทั้งในวิจัยพบว่ารังแคมักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเนื่องจากฮอร์โมน

รู้หรือไม่ ? แท้จริงแล้วรังแคก็แบ่งประเภท
1. Simple Dandruff
รังแคประเภทนี้มักจะเกิดบนหนังศีรษะที่แห้งจากการอักเสบหรืออายุที่มากขึ้น รวมถึงการสระผมที่มากเกินไปด้วย ลักษณะของรังแคประเภทนี้จะแห้งเป็นแผ่นคล้ายเม็ดข้าวที่มาพร้อมกับอาการคัน

2. Oily Dandruff
รังแคประเภทนี้มักจะเกิดบนหนังศีรษะและเส้นผมที่มีความมันมากเกินไป หากสระผมไม่สะอาดมากพอจะทำให้เกิดรังแคประเภทนี้ได้ ซึ่งมันจะมีลักษณะมันวาว เกาะแน่นตามแนวผมด้านหน้า หู และรอบ ๆ ดวงตา

3. Asbestos-like scaling หรือ Pityriasis amiantacea
รังแคที่มีลักษณะเป็นใยหิน หนา ติดแน่น แต่ไม่มีอาการคันร่วมด้วย มักจะพบในเด็กผู้หญิงโดยไม่ทราบสาเหตุ มีการคาดการณ์ว่าอาจเกิดจากการดูแลรักษาความสะอาดไม่ดี

วิธีการรักษารังแค
- ลดความถี่ในการสระผม เพราะการสระผมบ่อยจะทำให้หนังศีรษะแห้ง และเมื่อมันแห้งก็จะก่อให้เกิดการผลิตน้ำมันเพิ่มมากขึ้นส่งผลต่อการเป็นรังแค
- เลี่ยงการสระผมก่อนนอน เพราะอาจจะเช็ดหรือเป่าผมไม่แห้ง ส่งผลให้อับชื้นจนเกิดการสะสมของเชื้อราตามมา
- ลดใช้ความร้อนกับหนังศีรษะเช่นการสระผมด้วยน้ำอุ่น เนื่องจากมันทำให้หนังศีรษะแห้งจนเกิดการลอกเป็นขุยได้
- หลีกเลี่ยงการเกาแรงหรือใช้หวีซี่คมหวีผม เพราะอาจทำให้หนังศีรษะได้รับบาดแผล เกิดการอักเสบ เป็นบ่อเกิดของรังแค
- ใช้ยาสระผมที่มีส่วนผสมของ คีโตนาโซล ซิงค์ไพรีไทออน (Zinc Pyrithione) ซิลิเนียม (Selenium) ซัลไฟด์ หากยังไม่หายให้ลองใช้ยาสระผมที่มีส่วนผสมของน้ำมันดิน (Coal tar) เพราะมีส่วนช่วยลดจำนวนเชื้อราบนหนังศีรษะ
- กรณีที่ผิวหนังศีรษะเกิดการอักเสบให้ใช้ยาทากลุ่มคอติโคสเตอรอยด์ชนิดน้ำ หรือครีมน้ำนมทาบริเวณที่เป็น
- หลีกเลี่ยงการทำสารเคมี เช่น ยืด ทำสี เจล มูส สเปรย์ หรือใช้ความร้อนกับเส้นผมบ่อย
- รับประทานอาหารที่มีสระอาหารเหล่านี้ ซิงค์ (สังกะสี) วิตามินบี โอเมก้า 3 
- งดทานอาหารเค็มจัด หวานจัด 
- งดดื่มแอลกอฮอล์

ปัญหารังแคเป็นเรื่องที่สามารถพบได้ทั่วไปและสามารถรักษาให้หายได้ แต่หากใครลองรักษาด้วยตัวเองมาทุกวิถีทางแล้วแต่ยังไม่หาย รณภีร์แนะนำว่าควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดค่ะ 

อ้างอิงข้อมูลจาก

Source

Source

Source

Source

Source

Source

Source

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้